ยินดีต้อนรับสู่เว็บสาขาพัฒนาสังคม ตอนนี้เว็บบอร์ดใหม่ใช้ได้แล้วนะคะ ลองใช้กันดูนะคะ ส่วนเรื่องข่าวสารของนิสิตและคณาจารย์ อยากจะให้นิสิตทุกร่นมีส่วนในการร่วมจัดทำ โดยการสร้าง Blog รุ่นตนเอง (เพื่อที่จะสะดวกในการ Update ได้ด้วยตนเอง) แล้วนำมาเชื่อมลิ้งค์กับเว็บของสาขาเราค่ะ

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551

โครงการศึกษาดูงานนิสิตสาขาวิชาพัฒนาสังคมชั้นปีที่ 3 จ.เชียงราย

เมื่อวันที่ 25 – 27 มกราคม พ.ศ. 2551 คณาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาสังคม และนิสิตสาขาวิชาพัฒนาสังคมชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ได้มีการจัดโครงการไปศึกษาดูงาน ณ เทศบาลอำเภอแม่ใจ และที่หมู่บ้านจะแล ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย โดยวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาดูงานครั้งนี้ คือ 1) เพื่อให้นิสิตได้รับประสบการณ์ตรงจากการศึกษาดูงาน 2) เพื่อให้นิสิตได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำงานและชีวิตจริงในอนาคต 3) เพื่อให้นิสิตสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติในรายวิชา 4) เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งรายวิชาที่ไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ได้แก่ การบริหารการพัฒนาสังคม นิเวศวิทยาวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ปัญหาสังคมและประเด็นสำคัญด้านการพัฒนา


ภาพที่ 1 เข้ารับฟังการบรรยายหลักการบริหารการพัฒนาจากนายกเทศบาลอำเภอแม่ใจ

จากการไปศึกษาดูงานที่เทศบาลอำเภอแม่ใจ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนายกเทศบาลอำเภอแม่ใจ นายสุรเกียรติ ได้สละเวลาในการให้คำแนะนำและข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการงานพัฒนาสังคมแก่นิสิต อีกทั้งนิสิตยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาในกระชัง และการทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ จากวิทยากรชาวบ้าน และวิทยากรทั้งสอง ได้นำนิสิตชมการสาธิตการผลิตปุ๋ย และเยี่ยมชมกระชังเลี้ยงปลาบริเวณหนองเล็งทราย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวอำเภอแม่ใจ



ภาพที่ 2 "เหนื่อยนักพักเสียก่อน" ณ บริเวณศูนย์แสดงสินค้า พิพิธภัณฑ์ชาวเขา


ต่อจากนั้น คณะนิสิตและอาจารย์ได้เดินทางไปยังมูลนิธิกระจกเงา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าชุมชนหมู่บ้านจะแล ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลาหู่ (ภาษาทางการ) หรือที่เรามักเรียกติดปากกันว่า “มูเซอ” ทางมูลนิธิได้จัดเตรียมหัวข้อสำหรับให้นิสิตศึกษาดูงานใน 4 ประเด็น คือ 1) วัฒนธรรมชนเผ่า และประเพณีของชุมชน 2) การประกอบอาชีพ และปัญหาพื้นที่ทำกินบนพื้นที่สูง 3) วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น 4) การศึกษาของเด็ก ๆ ในชุมชน โดยนิสิตจะทำการแบ่งกลุ่มเพื่อไปศึกษาแต่ละหัวข้อตามความสนใจ


ภาพที่ 3 การเต้น “จะคึเว” ของชนเผ่าลาหู่ หมู่บ้านจะแล ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย


ในระหว่างการเข้าศึกษาพื้นที่ชุมชนบ้านจะแลนั้น ได้มีกิจกรรมรอบกองไฟเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันดีงามระหว่างคนพื้นที่สูง กับคนพื้นราบ โดยชนเผ่าลาหู่ ได้แสดงการละเล่นเต้นรำประจำเผ่าที่เรียกว่า “จะคึเว” ผู้ชายชาวลาหู่จะเป็นผู้เล่นเครื่องดนตรีประจำเผ่า เช่น กลอง เครื่องเป่า พร้อมทั้งเต้นรำไปด้วย ส่วนผู้หญิงชาวลาหู่ จะเต้นรำอย่างเดียว การเต้นรำจะเต้นรำวนเป็นวงกลม และเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาพัฒนาสังคม ได้มีโอกาสร่วมเต้นรำไปด้วย อีกทั้งนิสิตบางคนยังได้มีโอกาสสวมชุดประจำชนเผ่าลาหู่ สำหรับในค่ำคืนนี้นิสิตได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านในหมู่บ้านจะแล ให้พักอาศัยร่วมกับชาวบ้านชนเผ่าลาหู่ โดยสมาชิกในหมู่บ้านโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ จะทำการเลือกนิสิตเข้าไปพักบ้านของเค้าด้วยตนเอง ในเย็นวันนั้นจะมีการประกอบอาหารเย็นร่วมกันระหว่างคณาจารย์และนิสิต กับชาวบ้านที่ตนเองได้รับเลือกไปพักอาศัยร่วมอยู่ด้วย


จากการไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทำให้คณาจารย์และนิสิต ต่างก็ได้รับความประทับใจ ตั้งแต่ในเรื่องของการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเทศบาลอำเภอแม่ใจ การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกับเพื่อนนิสิตด้วยกันเอง กับคณาจารย์ และกับชาวบ้านจะแล และได้รับความรู้ที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียนกลับมามากมาย สุดท้ายที่ลืมไปไม่ได้ คือ การได้ร่วมเดินทางข้ามเขาเป็นระยะทางประมาณ 7 กม. เพื่อเข้าสู่หมู่บ้านจะแล ทำให้คณาจารย์และนิสิต ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองในด้านต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน อีกทั้งเป็นการผูกสัมพันธ์อันดี ระหว่างนิสิตในชั้นปีเดียวกัน ได้มีโอกาสเห็นถึงความเสียสละ ความเมตตากรุณา ของเพื่อนร่วมชั้นปี ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความสานสามัคคีในชั้นปีที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป


บทความโดย
อาจารย์สุกมล มุ่งพัฒนสุนทร
อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาสังคม

สถิติผู้เยี่ยมชม